อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เปิดงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
วันที่ 14 เมษายน 2566 ที่วัดศรีโพธิ์ชัย ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ อำเภอนาแห้ว โดยมี นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเลย/ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย นายศิริวัฒน์ พินิจพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายกิตติคุณ บุตรคุณ ปลัดจังหวัดเลย นางสาวจุฑามาศ กุลรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเลย นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ ๕ นายจริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย ผู้แทนสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย นักท่องเที่ยว ร่วมพิธีเปิดเป็นจำนวนมาก
นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า การแห่ต้นดอกไม้ตำบลแสงภา ณ วัดศรีโพธิ์ชัย มีความเป็นมา ยาวนานกว่า 476 ปี โดยมีความเชื่อว่าการทำต้นดอกไม้มาเป็นพุทธบูชาในวันสงกรานต์ที่ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยในสมัยก่อนนั้นจะถือว่าเป็นมงคลกับชีวิตอย่างยิ่งต้นดอกไม้ของตำบลแสงภาจะมีลักษณะเด่นกว่าทุกวัดคือมีขนาดใหญ่และต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสมัครสมานสามัคคีในชุมชนเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์และสืบสานให้ประเพณีที่ดีงามอยู่กับชุมชนตำบลแสงภาตลอดไปแล้ว ก็จะมีการแห่ต้นดอกไม้ในอีก 2 วันพระ คือในวันที่ 19 และ 27 เมษายน 2566 นอกจากประเพณีแห่ต้นดอกไม้แล้ว อำเภอนาแห้วยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมและทางธรรมชาติอีกมากมายอยากให้เข้ามาเที่ยวชม เห็นว่าการเดินทางมาในอำเภอนาแห้วมีสภาพคดเคี้ยวภูมิทัศน์ที่สวยงาม อยากสร้างให้อำเภอนาแห้วให้เป็นเหมือนประเทศภูฏาน ที่มีสภาพลักษณะและสภาพพื้นที่มีภูเขาเป็นส่วนใหญ่เหมือนกัน นอกจากนั้นก็ยังมีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่น ซึ่งจังหวัดเลย ปัจจุบันสามารถหารายได้จากการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นรายได้หลักที่สำคัญของจังหวัด และอยากให้ทุกท่านเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดเลย
นายจักรภัทร พรมคล้าย รักษาราชการแทนนายอำเภอนาแห้ว กล่าวรายงานว่า อำเภอนาแห้ว ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท่องถิ่น และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรักษาและสืบสานวัฒนธรรมแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ เสริมสร้างความสัมพันธ์ ให้ประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชนเกิดความสามัคคี เพื่อนำทุนทางวัฒนธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาลในการนำทรัพยากร และทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดและสร้างสรรค์ เพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทางวัฒนธรรม พัฒนาความร่วมมือทางวัฒนธรรมกันในชุมชน กิจกรรมเริ่มด้วยชาวบ้านผู้ชาย แต่ละคุ้มจะร่วมกันประกอบโครงต้นดอกไม้ โดยใช้ไม้ไผ่ที่ตัดมาเป็นวัสดุเพียงอย่างเดียว ผู้หญิง เด็กและเยาวชน บางส่วนจะออกเดินทางเพื่อหาเก็บดอกไม้ตามข้างทาง ชายป่า หรือหมู่บ้านต่างๆ ร่วมกันประดับดอกไม้เข้ากับต้นดอกไม้ โดยจะมีการเล่นสาดน้ำ หรือร้องรำทำเพลงร่วมกันในช่วงระหว่างการประดับหรือติดต้นดอกไม้ ปีนี้ชาวบ้านได้ทำต้นดอกไม้ใหญ่ ถึง 14 ต้น และมีความสูงถึง 12 เมตร ซึ่งสูงและใหญ่ที่สุดในโลก จากนั้นผู้ชายจะช่วยกันเคลื่อนย้ายต้นดอกไม้ โดยวิธีการแบกหามออกจากคุ้มต่างๆ เพื่อนำไปตั้งรวมกัน ณ บริเวณวัดศรีโพธิ์ชัย (รอบพระอุโบสถ) เมื่อพลบค่ำชาวบ้านผู้ชายจะช่วยกันยกต้นดอกไม้ ต้นละ 8 -12 คน แห่รอบพระอุโบสถ วนจากซ้าย ไปขวา จำนวน 3 รอบ ตามแบบอย่าง ประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา