จังหวัดเลย ประกอบพิธี “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2566 ถวายราชสักการะวางพานพุ่มดอกไม้สด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานประกอบพิธีถวายราชสักการะวางพานพุ่มดอกไม้สด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2566 ที่ศาลาประชาคมอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย โดยมี นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ข้าราชการตุลาการ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเลย ผู้แทนนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเลย ผู้แทนประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498 เป็นวันที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในการบังคับเมฆให้เกิดเป็นฝน จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวง ขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากให้แก่พสกนิกรที่ประสบภัยแล้งและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของประเทศจวบจนปัจจุบัน พสกนิกรชาวไทยทั้งมวล ต่างสำนึกและตระหนักว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตรากตรำพระวรกายในการทรงงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎร ทั้งทุกภูมิภาคของประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ตลอดจนพระอัจฉริยภาพและพระวิริยะอุตสาหะในการทรงทุ่มเทให้กับการประดิษฐ์ คิดค้นวิจัย และพัฒนาจนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริมากมายนานัปการ ซึ่งรวมถึงโครงการพระราชดำริฝนหลวง อันก่อเกิดประโยชน์คุณูปการ อเนกอนันต์แก่ปวงชนชาวไทยและนานาประเทศ
ฝนหลวง กำเนิดขึ้นด้วยพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ที่ทรงห่วงใยความทุกยากของพสกนิกรเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ในพื้นที่ประสบปัญหาความแห้งแล้ง 15 จังหวัด ภาคตะวันออดเฉียงเหนือ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 ณ แยกกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งนั้น พระองค์ทรงพบว่าความทุกข์ของประชาชนนั้นมีสาเหตุใหญ่มาจาก เมื่อมีฝนก็มากเกินพอจนเกิดปัญหาน้ำท่วม เมื่อหมดฝนก็เกิดปัญหาภัยแล้งตามมาทำให้เพาะปลูกไม่ได้ ทรงมีพระราชดำริค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่ได้รับจากธรรมชาติ โดยนำเทคโนโลยีนำสมัยและทรัพยากรที่มีอยู่มาประยุกต์กับศักยภาพของการเกิดฝนในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย โดยมุ่งขจัดปัญหาความเดือนร้อนดังกล่าว