อีเมล์/เลขบัตรประชาชน :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
บริการประชาชน
ผีตาโขน
12.32
ผีตาโขน
สวัสดีครับ...วันนี้มีอะไรให้ช่วยครับ ถามผีตาโขนมาได้เลย จะรีบไปหาคำตอบให้นะครับ
12.32
ข่าวประชาสัมพันธ์
จังหวัดเลย เปิดฤดูกาลปลูกฝ้าย ประจำปี 2566
26 กรกฎาคม 2566

จังหวัดเลย เปิดฤดูกาลปลูกฝ้าย ประจำปี 2566

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ที่กลุ่มทอผ้ามูนมังแม่ ตำบลปากปวน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดงานฤดูกาลปลูกฝ้าย ประจำปี 2566 เพื่อส่งเสริมการปลูกฝ้าย สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกฝ้าย และเป็นการประชาสัมพันธ์แนวคิด "เลย..เมืองแห่งผ้าฝ้าย" โดยมี นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเลย/ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย นายประชา แสนกลาง นายอำเภอวังสะพุง นางทรงศิริ แก้วคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลย และชาวตำบลปากปวน เข้าร่วมในพิธี

นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า กิจกรรมเปิดฤดูกาลปลูกฝ้ายเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ ชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model) ซึ่งสินค้าฝ้ายธรรมชาติของจังหวัดเลย ที่ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100% มีการย้อมด้วยสีธรรมชาติ เป็นสินค้าที่สอดคล้องกับ BCG Model ที่สะท้อนถึงการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไป นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปัจจุบัน ผ้าฝ้ายเมืองเลยกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาต่อไป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสในการกระจายรายได้ อันจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

นางเบญจวรรณ ตัญญู พาณิชย์จังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยมีชื่อเสียงเรื่องการปลูกฝ้ายและทอผ้าฝ้ายมาตั้งแต่อดีตสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แต่ในปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายลดลงกว่าในอดีต ซึ่งสวนทางกับปริมาณความต้องการฝ้ายธรรมชาติในท้องตลาดที่มีมากขึ้น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเลย จึงให้การสนับสนุนคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลยในการส่งเสริม ให้สินค้า “ผ้าฝ้ายเมืองเลย” ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่กระบวนการระดับต้นน้ำ คือ การปลูกฝ้าย โดยใช้ฝ้ายที่ปลูกในจังหวัดเลย และวางแผนต่อเนื่องถึงการเป็นสินค้า BCG ว่าต้องปลูกฝ้ายอย่างไรให้สอดคล้องกับแนวคิด BCG ซึ่งเราจะใช้สมาชิกในคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลยเป็นกลุ่มเครือข่าย แบ่งกลุ่มผู้ปลูกฝ้ายเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มผลิตฝ้ายอินทรีย์ มุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดระดับบนและตลาดเฉพาะกลุ่ม และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มผลิตฝ้ายไม่อินทรีย์ เป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั่วไป โดยคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลยมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ปลูกฝ้ายภายในจังหวัดเลยให้มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นการสร้างชื่อเสียงให้ผ้าฝ้ายเมืองเลยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และยังเป็นการพัฒนา รักษา ต่อยอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป

จังหวัดเลย เป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทย ที่ปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 1 พันธุ์ฝ้ายพื้นเมืองของจังหวัดเลย มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ฝ้ายตุ่ยน้อย ฝ้ายตุ่ยใหญ่ ฝ้ายขาวน้อย ฝ้ายขาวใหญ่ วิถีเดิมจังหวัดเลยมีอากาศหนาวเย็นมาก ทุกครอบครัวต้องปลูกฝ้าย เพื่อนำดอกฝ้าย มาทำผ้าห่ม ผ้านวม และใช้ในชีวิตประจำวัน สืบทอดมาแต่ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงปัจจุบัน ในช่วงปี 2520 รัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกฝ้ายให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเลย และเป็นที่นิยมจนเป็นพืชไร่ที่ทำรายได้สูงสุดของจังหวัดเลย ทำให้เป็นที่มาของการจัดงาน “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย”

ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ